จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ใครเลี้ยงวัวระวังโรคกีบเน่าครับ

โรคกีบเน่า (Infectious foot rot) เป็นโรคติดต่อสำคัญที่ทำให้โคนม แสดงอาการขาเจ็บ เนื่องจากส่วนต่างๆ ของกีบมีการอักเสบ สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อฟูโซแบคทีเรียม นิโครโฟรัม (Fusobacterium necrophorum) ซึ่ง โรคนี้เกิดได้ทุกฤดูแต่จะพบมากในฤดูฝน และมีสาเหตุโน้มนำมาจากการเลี้ยงโคในคอกที่ชื้นแฉะตลอดเวลาหรือคอกที่มีแอ่ง โคลนมีก้อนหิน ก้อนกรวดปะปนอยู่ หรือคอกที่มี   พื้นแข็งและแห้ง ซึ่งสภาพเช่นนี้จะทำให้กีบมีการบวม มีแผลตามสันกีบและซอกกีบ เชื้อแบคทีเรียจึงผ่านเข้าทางบาดแผล เกิดการอักเสบที่บริเวณกีบได้ โคที่เป็นโรคนี้จะมีน้ำสีดำๆ กลิ่นเหม็น ออกมาจากแผลปะปนในแปลงหญ้า พื้นคอก ทำให้โรคแพร่ระบาดไปยังโคตัวอื่นๆ ได้  โดยโคจะแสดงอาการเจ็บ ขา เดินกะเผลก สันกีบและซอกกีบบวมแดง มีแผลรูที่มีน้ำสีดำคล้ำไหลออกมากลิ่นเหม็นมาก มักพบในโคทุกอายุ แต่จะพบมากในโคที่มีอายุ แม่โคที่ กำลังให้นม น้ำนมจะลดลงกว่าปกติ  สำหรับ การตรวจวินิจฉัยนั้น สังเกตได้จากอาการและสภาพแวดล้อมทั่วๆ ไป เช่น พื้นคอก ฤดูกาลดูลักษณะของแผลที่บริเวณกีบและเพาะหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ
          การรักษา ในระยะเริ่มแรกของโรคให้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หรือซัลฟา เช่น เพนิซิลิน  10,000 ยูนิต/น้ำหนักสัตว์ 1 กิโลกรัม หรือ อ๊อกซี่เต็ทตร้าไซคลิน 1 ซี.ซี./น้ำหนักสัตว์ 10 กิโลกรัม หรือซัลฟาไดอะซิน ขนาด 150-200 มิลลิกรัม/น้ำหนักสัตว์ 1 กิโลกรัม ก็จะได้ผลดีแต่ถ้าบริเวณพื้นกีบอ่อนนุ่มมีแผลรู ควรล้างทำความสะอาดกีบ เปิดแผลให้กว้างตัดเอาเนื้อตายออกล้างแผลให้สะอาดอีกครั้งด้วยไฮโดรเจนเปอร์ ออกไซด์ แล้วใส่ยาชนิดครีมที่ผสมซัลฟาหรือยาปฏิชีวนะอื่นๆ หรือจะให้สัตว์เดินผ่านบ่อน้ำตื้นๆ ที่มี 5% คอปเปอร์ซัลเฟต หรือ 3% ฟอร์มาลิน ก็ได้ แล้วนำโคไปไว้ในคอกที่พื้นแห้งและสะอาด 
           การควบคุมและป้องกัน แยกโคที่แสดงอาการขาเจ็บ ออกจากฝูง ทำการรักษากีบที่เน่า ทำความสะอาดพื้นคอกถ้าเป็นคอนกรีต ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อปล่อยทิ้งไว้ให้พื้นคอกแห้ง ถ้าพื้นคอกที่เป็นดินควรเก็บกวาดอุจจาระออกให้หมด อย่าปล่อยให้หมักหมมพยายามทำให้พื้นคอกเรียบ เพื่อป้องกันน้ำขังโดยเฉพาะ    ในฤดูฝน และควรสังเกตสุขภาพของโคอย่างสม่ำเสมอ
          หาก เกษตรกรท่านใดสังเกตเห็นว่าสัตว์เลี้ยงของท่านมีอาการผิดปกติ หรือไม่แน่ใจว่าสัตว์เลี้ยงของท่านป่วยเป็นโรคข้างต้นหรือไม่ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้ บ้านท่าน  
                                  *******************************               
     ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์   สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ          
     เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช  สาสะกุล  นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น